+   *    +     +     
About Us 
The Issues 
Our Research Products 
Order Publications 
Multimedia 
Press Room 
Resources for Monitor Researchers 
ARCHIVES HOME PAGE 
    >
 
Table of Contents
Country Reports
รายงานสถานการณ์ทุ่นระเบิดในประเทศไทยประจำปี 2547, Landmine Monitor Report 2004

ประเทศไทย

ความก้าวหน้าครั้งสำคัญนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546: ไทยเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 5 ณ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2546 ในปี 2546 ไทยได้กวาดล้างทุ่นระเบิดครอบคลุมพื้นที่ 718,910 ตารางเมตร และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2547 กวาดล้างได้รวม 478,890 ตารางเมตร ในปี 2546 ผู้ได้รับความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิดมีจำนวน 170,890 คน ในช่วงเวลาที่ประกาศนิรโทษกรรมอาวุธผิดกฎหมาย ผู้ครอบครองจำนวนมากได้ส่งมอบทุ่นระเบิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ความก้าวหน้าครั้งสำคัญนับตั้งแต่ปี 2542: ผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในเดือนพฤษภาคม 2543 ถึงพฤษภาคม 2544 สรุปว่า ประเทศไทยมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยทุ่นระเบิด 531 แห่ง ใน 27 จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติได้รับการก่อตั้งในเดือนมกราคม 2542 มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) ที่ 1 ถึง 3 ในปี 2542 และ 2543 นปท. 4 ถูกจัดตั้งในปี 2545 และทีมกู้ระเบิดฝ่ายพลเรือนในปีเดียวกัน ปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมเริ่มขึ้นในปี 2543 และเมื่อสิ้นปี 2546 มีพื้นที่ที่ได้รับการกวาดล้างรวม 1,162,236 ตารางเมตร ระหว่างปี 2543-2546 ประชาชนกว่า 370,000 คนได้รับความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิด ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชุดสุดท้ายในคลังจำนวน 337,725 ทุ่นในเดือนเมษายน 2546 ไทยเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 ในเดือนกันยายน 2546 และยังได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเรื่องทุ่นระเบิดในระดับภูมิภาคเมื่อปี 2544 และ 2545 ไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานร่วมของคณะกรรมการประจำด้านสถานะทั่วไปและปฏิบัติการของอนุสัญญาตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 ถึงกันยายน 2545 และเป็นผู้รายงานร่วมในปีก่อนหน้านี้

นโยบายเรื่องการห้ามทุ่นระเบิด

ราชอาณาจักรไทยลงนามในอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 และได้ให้สัตยาบันในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ไทยจึงเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้สัตยาบัน อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดเริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับไทยในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ในระยะแรก ไทยไม่สู้เต็มใจที่จะรับรองกระบวนการอนุสัญญาออตตาวา โดยเลือกที่จะเป็นผู้สังเกตการณ์ในการเจรจาครั้งต่าง ๆ หลังจากลงนามแล้ว ไทยได้สนับสนุนการห้ามทุ่นระเบิดในระดับนานาชาติ และโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างกระตือรือร้น

ไทยยังไม่ได้บัญญัติกฎหมายท้องถิ่นเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด แต่ก็ได้จัดเตรียม “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการควบคุมการปฏิบัติตามอนุสัญญา”[1] ดูเหมือนว่าร่างฉบับดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อการแก้ไขกฎระเบียบที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ โดยมีกองบัญชาการทหารสูงสุด (สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) เป็นฝ่ายผลักดัน[2] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความหวังว่าร่างระเบียบฉบับนี้จะแล้วเสร็จทันการประชุมทบทวนกระบวนการอนุสัญญาฯ ที่กรุงไนโรบีในเดือนพฤศจิกายน 2547[3]

ไทยประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2546 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คนจาก 119 ประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึงรัฐภาคี 91 รัฐและรัฐที่ยังไม่ได้เป็นภาคี 28 รัฐ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 200 คนจาก 65 ประเทศเข้าร่วมด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม เจ้าหญิงแอสทริดแห่งเบลเยี่ยมทรงมีพระราชดำรัส รองนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กล่าวรายงานในฐานะเจ้าภาพ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับเลือกให้เป็นประธานในที่ประชุม สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ให้ความสนใจรายงานข่าวเกี่ยวกับพิธีการและการประชุมตลอดสัปดาห์อย่างกว้างขวาง

ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 นี้ด้วยความกระตือรือร้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวในพิธีปิดว่า “การประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญแก่ชะตากรรมของเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดด้วย เราต้องการเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในด้านการระดมทรัพยากรเพิ่มสำหรับปฏิบัติการทุ่นระเบิด รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราขอย้ำความจริงที่ว่าปฏิบัติการทุ่นระเบิดมิใช่เป็นเพียงประเด็นมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องการพัฒนาด้วย.... จึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาในบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”[4]

ไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีเป็นประจำทุกปี และเข้าร่วมการประชุมระหว่างสมัยประชุมอย่างกระตือรือร้นทุกครั้ง รวมถึงการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์และมิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา ไทยและนอร์เวย์ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานร่วมของคณะกรรมการประจำด้านสถานะทั่วไปและปฏิบัติการของอนุสัญญา ระหว่างเดือนกันยายน 2544 และกันยายน 2545 และเป็นผู้รายงานร่วมในปีก่อนหน้านี้ ไทยเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการหลายกลุ่ม ทั้งในเรื่องการสนับสนุนความเป็นสากลของอนุสัญญา รายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 และการระดมทรัพยากร ในปี 2547 ไทยเป็นผู้นำคณะทำงานการระดมทรัพยากรในการติดต่อเจรจากับธนาคารโลก[5]

ไทยส่งมอบรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ของอนุสัญญาฯ ประจำปีปฏิทิน 2546 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2547 ในแบบฟอร์ม J ซึ่งเป็นรายงานตามความสมัครใจ มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 ไทยจัดทำรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ไปแล้วรวม 6 ฉบับ[6]

ไทยได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนทุกมติของสมัชชาแห่งสหประชาชาติเรื่องการห้ามทุ่นระเบิดตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา รวมทั้งมติหมายเลข 58/53 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ในฐานะประธานการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 ไทยเป็นผู้สนับสนุนหลักของมตินี้ รวมถึงมติหมายเลข 57/74 ที่เรียกร้องความเป็นสากลและการปฏิบัติตามอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดอย่างสมบูรณ์ และมีการรับรองในเดือนพฤศจิกายน 2545

ในการเตรียมการประชุมทบทวนฯ ครั้งแรก ไทยได้กำหนดให้จัดการสัมมนาระดับภูมิภาคระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2547 การสัมมนาครั้งนี้มีประเด็นหลักอยู่ที่การผนวกการกวาดล้างทุ่นระเบิดเข้ากับการพัฒนา และโครงการความร่วมมือในภูมิภาค[7] ไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องปฏิบัติการทุ่นระเบิดซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน (เมษายน 2547) และกัมพูชา (มีนาคม 2546) ด้วย

ไทยเป็นผู้นำรัฐภาคีต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการจัดตั้ง Bangkok Regional Action Group (BRAG) ในเดือนกันยายน 2545 โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการริเริ่มการห้ามทุ่นระเบิดในภูมิภาค อันเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 ในเดือนกันยายน 2546 ไทยเป็นเจ้าภาพจัด “การสัมมนาระดับภูมิภาคอาเซียนเรื่องปัญหาทุ่นระเบิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2545 มีการจัดประชุมระดับภูมิภาคเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิด ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2544 และไทยยังได้ร่วมสัมมนาเรื่องการทำลายทุ่นระเบิดในคลัง ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย ในเดือนสิงหาคม 2544 อีกด้วย

ไทยไม่ได้ร่วมในการประชุมหารือต่าง ๆ ที่บรรดารัฐภาคีจัดขึ้นเพื่อตีความมาตรา 1, 2 และ 3 ของอนุสัญญาฯ ดังนั้น ไทยจึงยังไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการปฏิบัติการร่วมทางทหารกับรัฐที่ไม่ได้เป็นภาคี ทุ่นระเบิดต่อต้านยานยนต์ที่ติดตั้งชนวนไวหรืออุปกรณ์ป้องกันการเก็บกู้ และจำนวนทุ่นระเบิดที่อนุญาตให้เก็บไว้เพื่อการฝึกอบรมได้

คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด (TCBL) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรเอกชน 11 องค์กร มีบทบาทในการรณรงค์ห้ามทุ่นระเบิดและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด[8] คณะทำงานไทยฯ ร่วมงานกับรัฐบาลในการจัดการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 โดยร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่มี ศทช. เป็นประธาน คณะทำงานไทยฯ ได้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของการประชุม จัดนิทรรศการ กิจกรรมข้างเคียง และจัดเตรียมส่วนหนึ่งของพิธีเปิดการประชุมฯ

ก่อนหน้าการประชุมรัฐภาคี คณะทำงานไทยฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ทั่วประเทศ ในเดือนเมษายน 2546 ซึ่งรัฐบาลทำลายทุ่นระเบิดชุดสุดท้ายในคลัง มีการจัดโครงการขี่จักรยานรณรงค์จากกรุงเทพฯ ถึงลพบุรี โดยมีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเข้าร่วมจำนวน 40 คน[9] มีการพิมพ์มือบนป้ายผ้าใน “โครงการแสนมือร่วมใจต้านภัยทุ่นระเบิด” ตลอดระยะเวลา 6 เดือนทั่วประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2546 บรรดานักการทูต ศิลปินดารา แขกผู้มีเกียรติและผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดได้ร่วมพิมพ์มือบนป้ายผ้า ในงานเลี้ยงรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังได้นำนิทรรศการเคลื่อนที่ “ประชาคมโลก ร่วมมือร่วมใจ ต้านภัยทุ่นระเบิด” ไปจัดแสดงภายในบริเวณมหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ ตลอดจนห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2546 มีการจัด “Ban Landmines Fair” ที่สวนสาธารณะวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ในกรุงเทพฯ คณะทำงานไทยฯ ได้จัดแปลและพิมพ์เอกสารรายงานสถานการณ์ทุ่นระเบิดในประเทศไทย พร้อมกับแจกจ่ายให้กับข้าราชการและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอรายงานฉบับแปลนี้แก่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีขณะเข้าเยี่ยมคารวะที่ทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดการสัมมนาในหัวข้อ “APMs — Are They Worth It?” ในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 50 คน ประกอบด้วยผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด สื่อมวลชนต่าง ๆ นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนจาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในจำนวนนี้ ยังรวมถึงผู้แทนประเทศที่ยังไม่เป็นภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดจากบรูไน เมียนมาร์ ลาว สิงคโปร์ และเวียดนาม ด้วย

ในเดือนมกราคม 2547 องค์การสันติวิธีสากลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (NI-SEA) เผยแพร่เอกสารเรื่อง “อาเซียนกับการห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล...ครึ่งทศวรรษหลังจากออตตาวา” ในรูปแบบหนังสือ 32 หน้า บรรจุเนื้อหารายงานการติดตามสถานการณ์ทุ่นระเบิด (Landmine Monitor) ระหว่างปี 2542 – 2546 นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา NI-SEA จัดพิมพ์รายงานการวิจัยสถานการณ์ทุ่นระเบิดของภูมิภาคเป็นประจำทุกปี รวมถึงรายงาน “อาเซียนกับการห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” ประจำปี 2546 ซึ่งประกอบด้วยบทวิเคราะห์แนวโน้มของการปฏิบัติตามพันธกรณีและปฏิบัติการทุ่นระเบิดภายในภูมิภาค

การผลิต การโอน และการใช้

ไทยระบุว่าไม่เคยผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคล[10] รวมทั้งทุ่นระเบิดแบบอโลหะ M18 (เคลย์โมร์)[11] ในอดีต ดูเหมือนว่าไทยเคยนำเข้าทุ่นระเบิดสังหารบุคคลจากสหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน และอดีตยูโกสลาเวีย[12]

รัฐบาลไทยไม่เคยส่งออกทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อย่างไรก็ตาม ในปี 2544 มีการรายงานข่าวการค้าอย่างผิดกฎหมายหลายครั้ง[13] คดีข้าราชการกองทัพบกไทย 2 นาย พยายามลักลอบส่งออกทุ่นระเบิดอย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้น ในเดือนเมษายน ปี 2544 ยังคงรอขึ้นศาลทหารอยู่ในปัจจุบัน[14] และยังมีกรณีข้อกล่าวหาต่าง ๆ ในเรื่องการขายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยนักธุรกิจไทย และนายทหารระดับผู้บัญชาการให้กับกลุ่มกบฏชาวพม่าในปี 2544 ด้วย [15]

ไม่ปรากฏหลักฐานต่อข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นตามรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ Phnom Penh Post ของกัมพูชา ในเดือนพฤศจิกายน 2545 ที่ว่าผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชาเสียชีวิตจากการเหยียบทุ่นระเบิด หรือที่ว่าตำรวจตระเวนชายแดนของไทยวางทุ่นระเบิดดักไว้[16] ในอดีต กองกำลังทหารไทยได้วางทุ่นระเบิดตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อป้องกันการแทรกซึมของกองกำลังทหารเวียดนาม ทั้งในเขตชายแดนพม่า ลาว และมาเลเซีย ก็เคยมีการใช้ทุ่นระเบิดเช่นกัน

ไทยกล่าวหาว่ากองทหารพม่าวางทุ่นระเบิดในฝั่งไทยในปี 2544 ความไม่พอใจกันระหว่าง 2 ประเทศในกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขต มีความรุนแรงยิ่งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 กองกำลังทหารพม่าและกองทัพว้า ต่างถูกกล่าวหาว่าได้วางฝังทุ่นระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวในอีกไม่กี่เดือนต่อมา รัฐบาลไทยได้ร้องเรียนถึงปัญหาการวางทุ่นระเบิดโดยเมียนมาร์ในหลายโอกาส [17]

การสะสมในคลังและการทำลาย

ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในคลังสะสมหมดสิ้นไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 ไทยเคยมีทุ่นระเบิดสะสมในคลังจำนวนรวม 342,695 ทุ่น[18] ระหว่างปี 2542-2546 มีการทำลายทั้งสิ้น 337,725 ทุ่น ยอดงบประมาณที่ใช้เพื่อการทำลายทุ่นระเบิดคือ 3,221,957 บาท หรือ 77,517 ดอลล่าร์สหรัฐฯ [19] หรือน้อยกว่า 10 บาทต่อทุ่น (0.24 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ) โดยมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งหมด[20]

ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลรวม 4,970 ทุ่นถูกสงวนไว้เพื่อการฝึกอบรมและการค้นคว้าวิจัย ตามที่มาตรา 3 ของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดอนุญาต ในระยะแรก ไทยเสนอที่จะเก็บทุ่นระเบิดไว้ในจำนวน 9,487 ทุ่น หากแต่ได้ตัดสินใจลดจำนวนลงในเดือนพฤศจิกายน 2544[21] หน่วยงานที่รับผิดชอบทุ่นระเบิดที่สงวนไว้ได้แก่ กองทัพบก (3,000 ทุ่น), กองทัพเรือ (1,000 ทุ่น), กองทัพอากาศ (600 ทุ่น) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน (370 ทุ่น)[22] ศทช. ระบุว่าไม่มีการนำทุ่นระเบิดที่สงวนไว้ในคลังมาใช้ แต่มีการนำมาเป็นตัวอย่างในการฝึกอบรม [23]

ไทยได้รายงานในเดือนพฤศจิกายน 2542 ว่า มีทุ่นระเบิดแบบอโลหะ (เคลย์โมร์) M18 และ M18A1 รวมจำนวน 6,117 ทุ่นในบัญชีครอบครอง[24] ในปี 2547 ไทยได้ยืนยันว่าทุกหน่วยงานได้รับทราบแล้วว่าระเบิดเคลย์โมร์จะถูกใช้ได้เฉพาะเมื่อมีการควบคุมการจุดระเบิดด้วยมือเท่านั้น[25] ไทยไม่ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับระเบิดเคลย์โมร์ในคลังสะสมในรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7

ในช่วงเวลานิรโทษกรรมอาวุธเถื่อน ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม - 15 ธันวาคม 2546 มีผู้ครอบครองนำทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไม่ทราบจำนวน (รวมทั้ง M14, M26 และเคลย์โมร์) ส่งมอบให้ทางราชการ[26] สาธารณชนยังไม่ได้รับทราบประกาศรายละเอียดของจำนวนและผู้ครอบครองอาวุธเหล่านี้ เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลานิรโทษกรรมแล้ว มีการตรวจพบทุ่นระเบิดในคลอง แม่น้ำ และใจกลางเทศบาลเมืองของบางจังหวัด[27] เจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบจะเป็นผู้ทำลายทุ่นระเบิดผิดกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าไทยได้รายงานการทำลายทุ่นระเบิดที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ในรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ในเดือนพฤษภาคม 2547

ปัญหาทุ่นระเบิด การสำรวจ และการประเมินสถานการณ์

ไทยได้รับทราบสภาพปัญหาทุ่นระเบิดของตนอย่างชัดเจนขึ้นมากในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2542 ซึ่งอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดมีผลบังคับใช้ อันเป็นผลจากการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม 2543 และพฤษภาคม 2544[28] ผลการสำรวจระบุว่า จำนวนพื้นที่ต้องสงสัยว่าจะมีทุ่นระเบิดฝังอยู่นั้นมีมากเป็น 3 เท่า ของจำนวนที่ได้ประมาณไว้ก่อนหน้านี้[29] มีหมู่บ้านตามชายแดนกัมพูชา, ลาว, พม่า และมาเลเซีย ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 531 หมู่บ้าน ใน 27 จังหวัด หนึ่งในสามของพื้นที่อยู่ที่ชายแดนติดกัมพูชา พื้นที่ต้องสงสัยส่วนใหญ่ จากจำนวน 934 แปลงไม่มีป้ายเตือนภัยติดตั้งอยู่ ยกเว้นในบริเวณที่อยู่ในระหว่างการเก็บกู้[30] หน่วยทหารมีแผนที่เฉพาะพื้นที่เสี่ยงบางแห่งเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปจำนวนมากยังคงเสี่ยงภัยเมื่อเข้าไปหาอาหาร เก็บฟืนและทำการเกษตรในพื้นที่เหล่านี้ แม้ทราบดีว่ามีทุ่นระเบิด เนื่องจากขาดโอกาสทางการอาชีพและแหล่งรายได้อื่น ๆ

เอกสารรายงานการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดได้รับการเผยแพร่ในไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2545[31] ขณะนี้มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ศทช. และมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รายงานว่าได้ดำเนินการสำรวจทางเทคนิคก่อนเริ่มปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดทุกครั้ง เพื่ออธิบายข้อมูลจากการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น[32] ศทช. มีแผนสำหรับการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดขั้นที่ 2 หรือที่เรียกว่าการสำรวจทางเทคนิค เพื่อติดตามผลของผลการสำรวจขั้นที่ 1 ในปี 2544 โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ระบุพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดสามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”[33]

นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในปี 2543 มีปริมาณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ผ่านการกวาดล้าง ในการประชุมระหว่างสมัยประชุมในเดือนพฤษภาคม 2546 ไทยระบุว่า ไม่สามารถดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ตามที่มาตรา 5 ของอนุสัญญาฯ กำหนดไว้ได้ [34] ในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 รองนายกรัฐมนตรีกล่าวรับรองกับคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ว่าไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีเพื่อให้ไทยปลอดจากทุ่นระเบิดได้[35] อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏกำหนดการและแผนงานที่จะทำให้บรรลุผลดังกล่าวได้ ในเดือนมีนาคม 2547 ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการประชุมนานาชาติว่า ไทยมีความมุ่งมั่นในการเร่งรัดปฏิบัติการทุ่นระเบิดภายในประเทศ[36] ในเดือนมิถุนายน 2547 ไทยได้กล่าวย้ำอีกครั้งว่าปริมาณพื้นที่ที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดนั้น “จะทำให้ ศทช. ต้องใช้ระยะเวลาในการกวาดล้างยาวนานกว่าที่ระบุในอนุสัญญา”[37]

ระบบปฏิบัติการฐานข้อมูลเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (IMSMA) ได้รับการติดตั้งที่ ศทช. เมื่อต้นปี 2544 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเพื่อติดตั้งและจัดการระบบดังกล่าว ฐานข้อมูลนี้ได้ผนวกข้อมูลจากการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดไว้ด้วย และมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง[38] ในปี 2547 ศทช. อยู่ในระหว่างปรับปรุงระบบ IMSMA ให้มีคุณสมบัติเท่าเทียมกับระบบใหม่ในชุด (เวอร์ชั่น) 2.2[39] ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี 2543 ศทช. ได้จัดทำฐานข้อมูลและติดตั้งระบบเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่าง ศทช. กับหน่วยกวาดล้างทุ่นระเบิดต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนและงบประมาณจาก UNDP และสหรัฐอเมริกา

ข้อมูลจาก ศทช. ระบุว่า IMSMA มีข้อจำกัดในการระบบปฏิบัติงาน สืบเนื่องจากการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เป็นประจำทุกปี บุคลากรที่ผ่านการอบรมแล้วถูกโอนไปยังหน่วยงานอื่น และการที่หน่วยราชการไม่สามารถว่าจ้างเอกชนมาจัดการระบบ ทำให้มีข้อมูลตกค้างอยู่มาก ศทช. ได้ร้องขอให้กรมการสนเทศทหาร ซึ่งรับผิดชอบงานด้านสารสนเทศของกองบัญชาการทหารสูงสุด รับช่วงดำเนินการเพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลกลางของ IMSMA ให้เป็นปัจจุบัน[40]

นอกเหนือจากระบบ IMSMA แล้ว การจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติการทุ่นระเบิดและผู้ประสบภัยยังคงไม่มีความต่อเนื่องหรือเพียงพอ เนื่องจาก ศทช. อาศัยเพียงข้อมูลการรายงานจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) ต่าง ๆ เท่านั้น ข้อมูลที่มีอยู่จึงไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด และรายงานเกี่ยวกับผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดจึงไม่สมบูรณ์[41]

การประสานงานและการจัดทำแผนงาน

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้รับการก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 2542 โดยมีความรับผิดชอบประสานงานการปฏิบัติการทุ่นระเบิดและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมระดับชาติ ศทช. เป็นหน่วยงานภายใต้กองบัญชาการทหารสูงสุด ศทช. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลผ่านทางกองบัญชาการทหารสูงสุด ในปัจจุบัน ศทช. ยังไม่สามารถว่าจ้างพลเรือนได้โดยตรง แต่อยู่ในระหว่างการดำเนินการผ่านทางกองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน[42]

เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานภายใน ศทช. ถูกมอบหมายจากต้นสังกัด ให้ปฏิบัติงานในระยะสั้น และผู้อำนวยการ ศทช. ให้สัมภาษณ์ว่าการสับเปลี่ยนบุคลากรเป็นประจำทุกปีไม่เอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่พัฒนาประสบการณ์ของตนในระดับสูงขึ้นได้ ผู้อำนวยการคนใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2547[43]

คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในระดับชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแลการปฏิบัติงาน ดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำงานในด้านต่าง ๆ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง[44] แม้ว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 แต่มีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 คณะกรรมการได้อนุมัติ “แผนแม่บทการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2545 – 2549)”[45] ศทช. กล่าวในต้นปี 2547 ว่ามีความตั้งใจจะปรับปรุงแก้ไขแผนแม่บทอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้[46] ศทช. ได้จัดประชุมขึ้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม 2547 โดยผู้เข้าร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้หารือกันในเรื่องดังกล่าว

ศทช. ให้ข้อมูลว่ายังมีการระดมทุนจากภายนอกประเทศเข้ามาเพื่อเร่งรัดการกวาดล้างทุ่นระเบิด ในขณะที่มีการร่วมมือกันจากหลายฝ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของปฏิบัติการ[47] แผนแม่บทการปฏิบัติการทุ่นระเบิดฉบับแก้ไขปรับปรุง ได้จัดลำดับความสำคัญโดยคำนึงถึงความต้องการของพลเรือน ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงโรงเรียน ศาสนสถาน พื้นที่การเกษตร และแหล่งน้ำ[48]

การเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิด

ในปี 2546 ศทช. เก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่รวม 718,910 ตารางเมตร หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) ของ ศทช. ได้เก็บกู้ในพื้นที่ทั้งสิ้น 311,438 ตารางเมตร และทีมพลเรือนโดยมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และองค์กรพันธมิตรแห่งญี่ปุ่นเพื่อการสนับสนุนด้านการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Japan Alliance for Humanitarian Demining Support - JAHDS) เก็บกู้ได้พื้นที่ 407,472 ตารางเมตร[49] เมื่อนับรวมกันแล้ว ทั้งสองหน่วยงานได้ตรวจพบและทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลจำนวน 148 ทุ่น ทุ่นระเบิดต้านรถถัง 1 ทุ่น และสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด 86 ลูก ปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกของมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณและ JAHDS โดยก่อนหน้านี้เป็นการให้ทุนเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิด ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2547 ศทช. ได้กวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่อีก 478,890 ตารางเมตร พบทุ่นระเบิดสังหารบุคคล 95 ทุ่น ทุ่นระเบิดต้านรถถัง 5 ทุ่น และสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด 93 ลูก

นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในปี 2543 จนถึง ปี 2546 มีพื้นที่ที่กวาดล้างแล้วทั้งสิ้น 1,162,236 ตารางเมตร[50] ในขณะที่มีปริมาณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ผ่านการกวาดล้าง แต่สังเกตได้ชัดว่าระยะก้าวในปฏิบัติการมีความคืบหน้า ตัวเลขของ ศทช. ระบุว่า ในปี 2543 กวาดล้างพื้นที่ได้ 22,400 ตารางเมตร ปี 2544 ได้ 22,400 ตารางเมตร ปี 2545 ได้ 398,526 ตารางเมตร และในปี 2546 ได้ 718,910 ตารางเมตร หากตัวเลขสำหรับเดือนมกราคม – พฤษภาคม คงที่ คาดว่าในปี 2547 จะกวาดล้างได้ 1,149,336 ตารางเมตร

ในวันที่ 23 มกราคม 2547 มีการส่งมอบพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตรรอบ ๆ ปราสาทสด็กก๊อกธมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว โดยมีพลเอกวีระชัย เอี่ยมสะอาด เป็นประธานในพิธี[51] ปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2545 โดยความร่วมมือระหว่าง นปท.1 มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ JAHDS ทีมพลเรือนเก็บกู้ระเบิดทีมแรก ซึ่งเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ JAHDS[52]

ศทช. ให้การฝึกอบรมพลเรือนเก็บกู้ทุ่นระเบิดจำนวน 14 คนในปี 2544 จากนั้นในเดือนมีนาคม 2545 พลเรือนชุดนี้ได้เข้าร่วมการสำรวจในพื้นที่กิ่งอำเภอโคกสูง จ.สระแก้ว และได้เริ่มการปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2546 ที่ปราสาทสด็กก๊อกธม จ.สระแก้ว ศทช. ไม่สามารถจัดฝึกพลเรือนเพิ่มขึ้นอีก 2 ชุดตามเป้าหมายได้ เนื่องจากขาดงบประมาณ

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 มีการตรวจสอบพื้นที่ที่ผ่านการกวาดล้างแล้วจำนวน 227,209 ตารางเมตรที่กิ่งอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งรวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรที่ นปท.1 กวาดล้างจำนวน 94,360 ตารางเมตร และพื้นที่ที่ถูกกวาดล้างโดย JAHDS และมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อีก 132,849 ตารางเมตร[53]

นปท. 2 กวาดล้างพื้นที่ใกล้กับตลาดการค้าชายแดน แหล่งน้ำและเส้นทางชลประทาน นปท. 3 กวาดล้างพื้นที่ใกล้และรอบบริเวณทางหลวงและถนนสายเล็กหลายสาย ในปี 2547 นปท. 4 ได้ทำการกวาดล้างในพื้นที่โครงการหลวงจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งหนึ่ง และยังได้กวาดล้างพื้นที่เพื่อการผลิตทางการเกษตรที่เขาค้อด้วย[54]

นอกเหนือจากข้อมูลเรื่องการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมข้างต้นแล้ว ทีมกวาดล้างทุ่นระเบิด 2 ทีม ได้เก็บกู้สรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิดและทุ่นระเบิด หลังเกิดกรณีคลังแสงของกองทัพบกที่หนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระเบิดครั้งใหญ่ โดยได้ร่วมกันปฏิบัติการภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดที่คลังแสงระเบิด ในระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 20 ธันวาคม 2544[55] ปฏิบัติการเก็บกู้ฉุกเฉินครั้งนี้ สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 4,125,350 ตารางเมตร[56] การระเบิดครั้งดังกล่าวได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในคลังสะสมของไทยจำนวน 48,688 ทุ่น

โครงสร้างของ ศทช. ประกอบด้วยศูนย์บัญชาการที่กรุงเทพฯ ศูนย์ฝึกอบรมการปฏิบัติการตรวจค้นและทำลายทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม จ.ราชบุรี ศูนย์ฝึกอบรมการปฏิบัติการแจ้งเตือน ให้ความรู้และหาข่าว จ.ลพบุรี และศูนย์ฝึกสุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิดและผู้บังคับสุนัข จ.นครราชสีมา มีการจัดตั้งและฝึกอบรมบุคลากรของ นปท. 1, 2 และ 3 ในปี 2542 และ 2543 ส่วน นปท. 4 ถูกจัดตั้งในปี 2545 แผนการจัดตั้ง นปท. 5 ไม่เป็นไปตามกำหนดโดยมีสาเหตุส่วนใหญ่สืบเนื่องจากการขาดงบประมาณสนับสนุน[57]

ในปี 2546 ศทช. เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่จากเดิม 311 คน เป็น 451 คน โดยแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บัญชาการ 40 คน ศูนย์ฝึกอบรมการปฏิบัติการตรวจค้นและทำลายทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม 32 คน ศูนย์ฝึกอบรมการปฏิบัติการแจ้งเตือน ให้ความรู้และหาข่าว 11 คน ศูนย์ฝึกสุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิดและผู้บังคับสุนัข 15 คน สำหรับ นปท. 1, 2 และ 3 มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยละ 99 คน และ นปท. 4 มีเจ้าหน้าที่ 56 คน ศทช. มีสุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด 26 ตัว เครื่องจักรกล 4 เครื่อง (SDDTs 2 เครื่อง Tempest T-10 1 เครื่อง และ BDM-48 1 เครื่อง) เครื่องตรวจค้นระเบิด “Vallon 21” 83 เครื่อง และเครื่องตรวจค้นระเบิด “Mine Lap” 34 เครื่อง[58]

การให้ความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิด

ในปี 2546 นปท. ทั้ง 4 หน่วย และองค์กรพัฒนาเอกชน 2 องค์กร คือ องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล- ประเทศไทย (HI) และ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ดำเนินกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิดตลอดแนวชายแดนไทยฝั่งตะวันออก ตะวันตก และเหนือ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 170,890 คน ผ่านทาง นปท. 169,461 คน ผ่านทาง HI 1,079 คน และผ่านทาง ADPC 350 คน

จากข้อมูลที่ได้รายงานใน Landmine Monitor ฉบับก่อนหน้านี้ มีประชากรรวม 370,000 คน ได้รับการอบรมความรู้เรื่องภัยจากทุ่นระเบิดระหว่างปี 2543 – 2546

ก่อนปี 2542 รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องภัยทุ่นระเบิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ได้จัดโครงการหลายโครงการในระหว่างปี 2540 – 2543 ตามอาณัติที่มีอยู่ ศทช. ได้เริ่มฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในเดือนสิงหาคม 2542[59] และโครงการแจ้งเตือน-ให้ความรู้จากภัยทุ่นระเบิดก็เริ่มต้นขึ้นในอีกหนึ่งปีต่อมา โดยระหว่างเดือนสิงหาคม 2543 – 2545 ศทช. สามารถเข้าถึงชุมชน 248 แห่ง ซึ่งมีประชากรรวม 185,888 คน[60] ในปี 2546 นปท. จัดการอบรมให้แก่ประชากร 169,461 คนจาก 87 ชุมชนใน 9 จังหวัด[61]

ADPC ซึ่งเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมระดับนานาชาติ ได้จัดการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและครูตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ในปี 2546 ADCP จัดการอบรมเรื่อง “โครงการอบรมความรู้เรื่องภัยจากทุ่นระเบิดในชุมชนที่ได้รับผลกระทบสูง” ในสามจังหวัดคือ จังหวัดสุรินทร์ (17-18 พฤศจิกายน) จังหวัดศรีสะเกษ (20-21 พฤศจิกายน) และจังหวัดเชียงราย (11-12 ธันวาคม) มีผู้นำชุมชนจำนวน 302 คน เข้าร่วมโครงการ[62] มีการจัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กเรื่องความรู้เรื่องทุ่นระเบิดและการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากทุ่นระเบิดนับพันเล่มและแจกจ่ายให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยทุ่นระเบิด[63] ในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2547 ADPC ได้จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องภัยจากทุ่นระเบิดให้แก่เจ้าหน้าที่และครู 48 คนที่กิ่งอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ADPC อยู่ในระหว่างการเตรียมการเพื่อจัดการฝึกอบรมให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบสูงตลอดแนวชายแดนไทย–พม่า ในระหว่างเดือนมีนาคม 2547-มีนาคม 2548 โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เป้าหมายของโครงการได้แก่ ครู นักเรียน และครอบครัวของเด็กนักเรียน[64] ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา มีผู้ผ่านการอบรมจาก ADPC จำนวนทั้งสิ้น 1,590 คน

ในปี 2546 องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (HI) ได้จัดโครงการฝึกอบรม 3 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรมรวม 1,079 คน[65] ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546 ถึง เมษายน 2547 HI ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECHO) ในการจัด “โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสัญชาติพม่าเพื่อให้พึ่งพาตนเองในด้านการให้ความรู้เรื่องทุ่นระเบิดและการฟื้นฟูสมรรถภาพ” เพื่อตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในค่ายผู้ลี้ภัยตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า ทั้งในเขตจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี และกาญจนบุรี โครงการในลักษณะเดียวกันนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในปี 2546 กลุ่มเป้าหมายได้แก่บุคลากรที่เป็นผู้ลี้ภัยและหัวหน้าค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 8 ค่าย ในจังหวัดตาก (แม่หละ อุ้มเปี้ยม นุโพ) แม่ฮ่องสอน (ปางควาย แม่ลามาหลวง แม่กองคา) และราชบุรี (ถ้ำหิน) และกาญจนบุรี (ดอนยาง)[66]

ในระหว่างเดือนกันยายน 2546 – กุมภาพันธ์ 2547 HI จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิดแก่เด็ก ๆ และได้แจกหนังสือการ์ตูนเรื่อง “จดหมายจากเพื่อนชายแดน” ฉบับภาษาไทยจำนวน 1,500 เล่ม และภาษาอังกฤษ 1,000 เล่ม ในการจัดกิจกรรม “No Mine Day” ในปลายเดือนพฤศจิกายน HI ได้แจกเสื้อและร่มที่มีข้อความให้ความรู้เรื่องทุ่นระเบิด เด็กนักเรียนได้รับแจกโปสเตอร์และแผ่นพับ[67] ในปี 2546 ได้แจกจ่ายโปสเตอร์จำนวน 1,430 แผ่น และแผ่นพับ 3,355 แผ่น[68] ในเดือนมีนาคม 2546 HI ได้ยุติโครงการการให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยชุมชนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ในเดือนเดียวกันการสำรวจจำนวนผู้ประสบภัยในโรงพยาบาลอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้สิ้นสุดลงหลังจากดำเนินการครบ 2 ปี ในระหว่างปี 2543 – 2546 HI ได้ให้ความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิดแก่กลุ่มเป้าหมาย รวมจำนวน 25,290 คน

ในระหว่างเดือนเมษายน 2544 ถึงมีนาคม 2545 สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) ได้ให้ความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิดแก่นักเรียนจำนวน 1,500 คน[69]

ไทยได้รายงานกิจกรรมการแจ้งเตือน-ให้ความรู้เรื่องทุ่นระเบิดของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ส่งมอบเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2547, 22 กรกฎาคม 2546 และ 30 เมษายน 2544

ความช่วยเหลือและทุนสนับสนุนในปฏิบัติการทุ่นระเบิด

ในปีงบประมาณ 2547 (ตุลาคม 2546 – กันยายน 2547) ศทช. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลไทยทั้งสิ้น 38.8 ล้านบาท (933,489 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) สำหรับปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม[70]

รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณสำหรับ ศทช. ในปี 2546 จำนวน 35 ล้านบาท ปี 2545 จำนวน 32 ล้านบาท ปี 2544 จำนวน 40 ล้านบาท ปี 2543 จำนวน 16.4 ล้านบาท และกองบัญชาการทหารสูงสุดจัดสรรเพิ่มเติมให้อีก 1.6 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2543

รัฐบาลไทยใช้จ่ายงบประมาณจำนวน 7,349,500 บาท (176,822 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5[71] ในจำนวนดังกล่าวได้รวมถึงเงินประมาณ 6.9 ล้านบาท (166,007 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) ที่ ศทช. ได้รับผ่านกองบัญชาการทหารสูงสุดด้วย[72]

จากข้อมูลที่ Landmine Monitor ได้รับ มีการบริจาคเงินจากนานาชาติเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิดของไทยในปี 2546 ในมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งมีแหล่งที่มาคือประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา นอร์เวย์ ออสเตรเลีย สำนักงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECHO) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และกองทุนเพื่อการพัฒนาเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)

สหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริจาคเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิดรายใหญ่ที่สุดสำหรับไทย โดยมียอดบริจาครวมประมาณ 13.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ นับแต่ปี 2542 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป จะไม่ให้การสนับสนุนเป็นตัวเงินโดยตรง แต่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงินในมูลค่าประมาณ 70,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2547 เนื่องจาก ศทช. ยังคงใช้เครื่องจักรกล SDTT-48 (Pearson) และเครื่องกวาดล้างทุ่นระเบิด TEMPEST เพื่อเหตุผลด้านการวิจัยและพัฒนาภายใต้การอุปถัมภ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกายังได้ช่วยซ่อมบำรุงรถบรรทุกให้ ศทช. ด้วย[73] ในปีงบประมาณ 2545 สหรัฐอเมริกาได้ให้ทุนจำนวน 801,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ สนับสนุนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม[74] ปีงบประมาณ 2544 สนับสนุน 1.77 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ปี 2543 สนับสนุน 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และในปี 2542 สนับสนุน 1.75 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

ศทช. รายงานว่ายอดรวมทุนสนับสนุนการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดระหว่างปี 2543-2544 มีจำนวน 1,655,075 ดอลล่าร์สหรัฐฯ บรรดาผู้สนับสนุนทุน ได้แก่ ประเทศนอร์เวย์ (450,518 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) สหราชอาณาจักร (449,700 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) สหรัฐอเมริกา (308,105 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) กองทุนแห่งสหประชาชาติ (154,052 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) ออสเตรเลีย (100,700 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) แคนาดา 100,000 (ดอลล่าร์สหรัฐฯ) และฟินแลนด์ 92,000 (ดอลล่าร์สหรัฐฯ)[75]

นอกจากสหรัฐอเมริกาและการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดแล้ว ไทยยังไม่ได้รับทุนสนับสนุนใดใดในปริมาณมากจากนานาชาติเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิด

ในปี 2546 รัฐบาลแคนาดาสนับสนุนทุนจำนวน 7,335 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้แก่ ศทช./คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด เพื่อการจัดสัมมนาปฏิบัติการทุ่นระเบิดระดับอาเซียน อันเป็นการเตรียมการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 และยังได้สนับสนุนทุนจำนวน 7,280 ดอลล่าร์สหรัฐฯ แก่คณะทำงานรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิดของฟิลิปปินส์ เพื่อการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับกลุ่มปฏิบัติการที่ไม่ใช่รัฐ ที่กรุงเทพฯ ในปี 2545 รัฐบาลแคนาดาบริจาคเครื่องจักรกลกวาดล้างทุ่นระเบิด PROMAC (BDM 48) และสารเคมีจุดระเบิด FIXOR ที่ผลิตในแคนาดา ในมูลค่าประมาณ 340,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้แก่ นปท.1 อย่างเป็นทางการ แคนาดารายงานว่าทุนสนับสนุนปฏิบัติการทุ่นระเบิดที่ให้แก่ในไทยในปี 2544 มีมูลค่ารวม 295,972 ดอลล่าร์สหรัฐฯ[76]

ญี่ปุ่นรายงานต่อ Landmine Monitor ว่าในปี 2546 ได้บริจาคเงินให้แก่องค์กรพันธมิตรแห่งญี่ปุ่นเพื่อการสนับสนุนด้านการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (JAHDS) จำนวน 77.7 ล้านเยน (637,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) สำหรับการกวาดล้างทุ่นระเบิดในไทย[77] ญี่ปุ่นรายงานต่อสหประชาชาติว่าได้สนับสนุนปฏิบัติการทุ่นระเบิดในไทย ด้วยทุนจำนวน 436,187 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2545 และ 476,081 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2542[78] ศทช. ระบุว่า ญี่ปุ่นได้จัดสรรทุนจำนวน 400,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้แก่ไทยในปี 2543 ผ่านทางกองทุนอิสระแห่งสหประชาชาติเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิด แต่ไทยสามารถนำทุนดังกล่าวมาใช้ได้ในช่วงปี 2545[79]

ในปี 2546 นอร์เวย์บริจาคทุนจำนวน 252,000 โครนนอร์เวย์ (35,582 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ในการจัดเตรียมการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 โดยได้มอบให้แก่องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย (JRS) จำนวน 150,000 โครนนอร์เวย์ และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) จำนวน 102,000 โครนนอร์เวย์[80] นอกจากนั้น นอร์เวย์ยังได้มอบทุนจำนวน 460,000 บาท ให้แก่ ADPC เพื่อสนับสนุนการจัดโครงการให้ความรู้เรื่องภัยจากทุ่นระเบิด[81] นอร์เวย์รายงานต่อสหประชาชาติว่า ได้ให้ทุนสนับสนุนปฏิบัติการทุ่นระเบิดในไทยเป็นจำนวน 80,111 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2544 และ 375,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2542

ในปี 2546 ADPC ได้รับเงินสนับสนุนจาก UNICEF จำนวน 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในโครงการให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดบริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า[82] และได้รับอีก 30,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากออสเตรเลีย แคนาดา นอร์เวย์ และ UNICEF สำหรับจัดการสัมมนาระดับภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ[83]

องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย (HI) ได้รับงบประมาณจากสำนักงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECHO) จำนวน 200,000 ยูโร (226,300 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) [84] เพื่อสนับสนุน “โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสัญชาติพม่าเพื่อให้พึ่งตนเองในเรื่องการให้ความรู้เรื่องทุ่นระเบิดและการฟื้นฟูสมรรถภาพ” ในค่ายผู้ลี้ภัย 8 แห่งใน 4 จังหวัด ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2546 – เมษายน 2547 และได้รับทุนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จำนวน 142,212 ดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อใช้สำหรับโครงการเดียวกันในปี 2546[85] นอกจากนี้ คณะผู้แทนถาวรไทยแห่งสหประชาชาติและกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้สนับสนุนทุนสำหรับการจัดพิมพ์หนังสือการ์ตูนเรื่อง “จดหมายจากเพื่อนชายแดน” และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการให้ความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิดแก่นักเรียนในระหว่างเดือนกันยายน 2546 – กุมภาพันธ์ 2547 เป็นจำนวนรวม 6,325 ดอลล่าร์สหรัฐฯ

ในระหว่างปี 2546 มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับเงินบริจาคจากภายในประเทศจำนวน 18,000,000 บาท (433,062 ดอลล่าร์สหรัฐฯ)[86] สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) ให้ทุนแก่นักเรียนที่เป็นทายาทของผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในจังหวัดสระแก้ว และในปี 2546 ได้รับบริจาคเงินจำนวน 600,000 บาท (14,435 ดอลล่าห์สหรัฐ) จากผู้บริจาคชาวไทยและจากมูลนิธิ Kinder Mission Work ประเทศเยอรมัน[87]

ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทุ่นระเบิด

ในปี 2546 นปท. 1 และ 3 ได้มีบันทึกจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดไว้ 29 ราย (เสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บ 25 ราย) ในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาในจังหวัดสระแก้ว สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ และบริเวณชายแดนไทยลาว ในจังหวัดอุบลราชธานี[88] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 19 คน ในปี 2545 ตามบันทึกข้อมูลที่ ศทช. จัดทำไว้[89] Landmine Monitor ได้ระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดอีก 17 คนที่มาจากส่วนอื่นของประเทศในปี 2545 รวมทั้งผู้ประสบภัยชาวกัมพูชาอีก 3 คน[90] ยังคงไม่มีกลไกเพื่อการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วประเทศ และ ณ เดือนมิถุนายน 2547 ระบบการรายงานของ นปท. เพื่อการจัดเก็บข้อมูลลงในระบบฐานข้อมูล IMSMA ที่ ศทช. ติดตั้งไว้ ยังคงปฏิบัติการได้ไม่เต็มที่

การรายงานเรื่องผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดยังคงมีอย่างต่อเนื่องในปี 2547 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี ศทช. จัดเก็บข้อมูลผู้ประสบภัยรายใหม่ได้ 13 คน (ตาย 2 และบาดเจ็บ 11) จำนวนนี้ได้รวมถึงเจ้าหน้าที่ในหน่วยปักปันเขตแดนไทยที่เหยียบทุ่นระเบิด M 14 และได้รับบาดเจ็บที่เท้าขณะตรวจค้นทุ่นระเบิดใกล้บริเวณตลาดการค้าชายแดนไทย-ลาว ในจังหวัดอุตรดิตถ์[91] และมีทหารรายอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย[92] นอกจากนี้ ยังได้มีการรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 ชาวบ้าน 2 คนจากจังหวัดสระแก้วได้รับบาดเจ็บ ทำให้คนหนึ่งสูญเสียขาระดับเหนือเข่า 1 ข้าง และอีกคนหนึ่งกระดูกแขนหัก[93] ในเดือนมิถุนายน ตำรวจ 4 นายได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิด 2 ทุ่น ขณะให้ความคุ้มครองแก่ครู ในระหว่างสถานการณ์ไม่สงบภายในที่จังหวัดนราธิวาสใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย[94]

ข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทุ่นระเบิดที่มีความครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ข้อมูลจากการสำรวจผลกระทบจากภัยทุ่นระเบิดในเดือนพฤษภาคม 2544[95] ผลการสำรวจระบุข้อมูลผู้ประสบภัย “รายใหม่-ในช่วงไม่นานมานี้” จำนวน 346 คน โดยมียอดรวมทั้งสิ้น 3,468 คน เสียชีวิต 1,497 คน และบาดเจ็บ 1,971 คน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด สูงกว่าสถิติที่มีก่อนหน้านี้[96] อุบัติเหตุที่ได้รับการบันทึกไว้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชา กล่าวคือ มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด “ในช่วงไม่นานมานี้” จำนวน 195 คน ส่วนใหญ่เป็นชาย (ร้อยละ 80) หญิง 10 คน และเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 4 คน ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 50) เป็นเกษตรกรหรือผู้ใช้แรงงานขณะประสบภัย โดยกิจกรรมที่ทำในขณะเกิดเหตุ รวมถึงการหาอาหาร น้ำ ไม้ฟืน หรือล่าสัตว์/ตกปลา (ร้อยละ 43) มีเพียง 50 คน (ร้อยละ 17) เท่านั้นที่เป็นทหาร และร้อยละ 14 อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ขณะประสบภัย[97]

มีรายงานข่าวเกี่ยวกับช้างที่เหยียบทุ่นระเบิดปรากฏในสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 โมแม่ลู ช้างพังอายุ 28 ปี เหยียบทุ่นระเบิดใกล้ชายแดนพม่า ทำให้บาดเจ็บที่ขาหน้าข้างซ้าย และได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลช้าง จังหวัดลำปาง[98] ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อนช้างระบุว่า มีช้างจำนวนอย่างน้อย 10 เชือกได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเนื่องจากเหยียบทุ่นระเบิด[99] ในเดือนกรกฎาคม 2547 ช้าง 9 เชือกจากจำนวน 15 เชือกที่โรงพยาบาลช้างประสบภัยจากทุ่นระเบิด ช้างเชือกที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางคือ โม่ตาลา ที่เหยียบทุ่นระเบิดในปี 2542 ขณะทำงานในป่าใกล้กับชายแดนด้านตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก[100]

การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด

ไทยมีบริการด้านการแพทย์และการฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถานีอนามัย โดยมีทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพในเขตชนบท ในขณะที่ทุกอำเภอและหมู่บ้านมีบริการด้านการปฐมพยาบาล แต่ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด จะถูกส่งต่อไปรับการรักษาในสถานพยาบาลระดับที่สูงขึ้นไปและมีอุปกรณ์พร้อมกว่า การรักษาด้านจิตวิทยาและการให้ความช่วยเหลือด้านสังคมยังไม่มีมากนัก โรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนบางแห่งมีแพทย์เฉพาะทางและมีหน่วยฟื้นฟูสมรรถภาพที่สามารถจัดทำขาเทียมและอุปกรณ์ช่วยเดินได้[101]

โดยทั่วไป ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ภัยทุ่นระเบิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับครอบครัวเกษตรกรที่ยากจนตามชายขอบสังคม ซึ่งขาดแคลนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดส่วนใหญ่ได้รับการดูแลจากครอบครัวและชุมชนของตนเอง

การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดระบุว่า มีผู้ประสบภัย “ในช่วงไม่นานมานี้” จำนวน 279 รายที่ไม่ได้เสียชีวิตทันทีขณะประสบเหตุ 134 รายได้รับการดูแลรักษาฉุกเฉิน (ร้อยละ 48) และ 13 รายได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ (ร้อยละ 5) ในขณะที่ผู้รอดชีวิต 14 รายไม่ได้รับการดูแลใดใด (ร้อยละ5) ไม่มีผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดให้ข้อมูลว่าได้รับการฝึกอาชีพ[102]

ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ศทช. ได้บรรจุกิจกรรมการช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดไว้ในแผนปฏิบัติการทุ่นระเบิด มีการประสานการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดกับกระทรวงสาธารณสุข (การดูแลฉุกเฉิน) กระทรวงมหาดไทย (การฟื้นฟูสมรรถภาพ) กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (การฝึกอาชีพ) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ[103] ในปี 2546 ศทช. ได้จัดหาอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพช่างตัดผมและช่างตัดเย็บเสื้อผ้าแก่ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 25 รายจากจังหวัดต่าง ๆ บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา[104] ในปี 2545 ให้การช่วยเหลือ 17 ราย และในปี 2544 ช่วยเหลือ 335 ราย[105] ในปี 2546 ศทช. จัดการอบรม 2 ครั้ง เรื่องการช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดและการให้ความรู้เรื่องการเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ชาวบ้านจากจังหวัดสุรินทร์จำนวน 96 คน และจากจังหวัดศรีสะเกษจำนวน 98 คน ผ่านการอบรมดังกล่าว[106]

ในช่วงต้นปี 2547 Landmine Monitor ได้รับแบบสอบถามคืนจำนวน 30 ชุด จากที่ส่งให้โรงพยาบาลระดับอำเภอและโรงพยาบาลระดับภูมิภาคจำนวน 68 แห่งและรวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถระบุจำนวนที่ได้รักษาผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด เนื่องจากขาดระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดโดยเฉพาะ ในปี 2546 โรงพยาบาลรัฐบาล ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ และองค์กรพัฒนาเอกชน 18 แห่งรายงานว่าได้รักษาด้านการแพทย์และการช่วยเหลือเคลื่อนที่แก่ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 582 คน[107]

ในปี 2546 ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้ผลิตแขน-ขาเทียมจำนวน 2,350 ข้าง และแจกจ่ายไป 1,354 ข้าง ซึ่งมากกว่าในปี 2545 ที่แจกจ่ายไปเพียง 314 ข้าง และยังได้แจกเก้าอี้รถเข็น 1,289 คันและเครื่องช่วยพยุงเดิน 970 ชุด ระหว่างวันที่ 20-22 สิงหาคม 2546 ศูนย์สิรินธรได้จัดบริการหน่วยขาเทียมเคลื่อนที่เป็นกรณีพิเศษที่บริเวณชายแดนไทย-ลาว จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ 4 รอบ (48 พรรษา) ผู้ที่มารับบริการ 162 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดแต่ไม่ได้มีการบันทึกสาเหตุความพิการ[108]

มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดหน่วยขาเทียมเคลื่อนที่ให้บริการฟรีแก่ผู้พิการในจังหวัดห่างไกลอย่างต่อเนื่อง ในปี 2546 มีผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 62 คนเข้ามารับบริการที่หน่วยบริการ 5 หน่วย ในจังหวัด พังงา กรุงเทพฯ จันทบุรี ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี เนื่องจากข้อมูลในคอมพิวเตอร์สูญหาย จึงไม่สามารถระบุจำนวนขาเทียมและเครื่องช่วยพยุงการเดินที่ได้แจกจ่ายไปในปี 2546[109] ในปี 2545 มูลนิธิฯ ได้มอบขาเทียมจำนวน 1,155 ขา และไม้ค้ำยัน 506 ข้าง แก่ผู้พิการจำนวน 1,043 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน จำนวน 209 คน และในปี 2544 ได้มอบขาเทียม 1,746 ข้าง แก่ผู้พิการ 1,140 คน โดยในจำนวนนี้ รวมถึงผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด 211 คน[110] เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่มูลนิธิขาเทียมได้ผลิตขาเทียมถึง 10,500 ข้าง โดยใช้วัสดุภายในท้องถิ่น มีการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการใช้งานในไทย จึงมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าขาเทียมนำเข้าจากต่างประเทศมาก[111] ในเดือนพฤษภาคม 2546 มูลนิธิฯ ได้เปิดสำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม และโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการว่าจ้างช่างเทคนิค 12 คนประจำโรงงาน และเริ่มฝึกอบรมการผลิตขาเทียมระดับเหนือเข่าขึ้นในเดือนมิถุนายน 2546[112] ในปี 2547 มูลนิธิฯ มีโครงการจัดหน่วยขาเทียมเคลื่อนที่ใน 4 จังหวัด คือ นครปฐม ตรัง น่าน และปราจีนบุรี และในอำเภอท่าขี้เหล็กของพม่าด้วย[113]

ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย (HI) ได้เปิดศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์ขาเทียมไปแล้ว 15 แห่งภายในโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ องค์การฯ ได้จัดโครงการอบรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐานและศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์ภายในพื้นที่รองรับผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ปี 2528 เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการรวมถึงผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดด้วย HI ยังได้แจกจ่ายเก้าอี้ล้อเข็นและจัดโครงการฝึกอาชีพแก่ผู้พิการ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรต่าง ๆ ที่ดำเนินงานช่วยเหลือผู้พิการ โครงการของ HI ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในจังหวัดจันทบุรี มีการจัดฝึกอบรมช่างเทคนิคซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด และจัดตั้งศูนย์ผลิตและซ่อมขาเทียมภายในหมู่บ้านในตำบลเทพนิมิตรและตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน[114] ในปี 2546 HI จัดอบรมด้านการทำขาเทียมและงานไม้ให้แก่ผู้ลี้ภัย 11 คน และได้ช่วยเหลือผู้พิการ 450 คน โดยจัดทำขาเทียมแก่ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 254 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้พิการรายใหม่ 99 คน และจัดซ่อมขาเทียมจำนวน 509 ข้าง[115] ในปี 2545 ได้จัดทำขาเทียมรวม 137 ข้าง และในปี 2544 จำนวน 119 ข้าง[116] ในปี 2546 HI ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้รอดชีวิตจากภัยจากทุ่นระเบิดจำนวนกว่า 300 คนภายในค่ายผู้ลี้ภัย สามารถคืนสู่ชุมชนในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกิจกรรมการรณรงค์ สันทนาการ และการฝึกอาชีพ อีกด้วย[117]

สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) ได้เริ่มโครงการมอบทุนการศึกษาแก่ทายาทของผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดตั้งแต่ปี 2544 ในปี 2546 ได้มอบทุนการศึกษาจำนวน 315 ทุน ปี 2545 จำนวน 200 ทุน และปี 2544 จำนวน 179 ทุน โดยทุนที่มอบนี้ครอบคลุมถึงชุดนักเรียน ชุดกีฬา เครื่องเขียน ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมพิเศษ/ทัศนศึกษา และในบางกรณีเพื่อซ่อมแซมที่พักและการเดินทาง ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 6 คนได้รับเก้าอี้ล้อเลื่อนในปี 2546[118]

ในปี 2546 สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยได้แจกรถเข็นจำนวน 300 คัน เครื่องช่วยพยุงการเดิน 20 ข้าง และอุปกรณ์เสริมพิเศษ 10 ชุดแก่ผู้พิการในพื้นที่ห่างไกล ในจำนวนนี้มีผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดได้รับ 30 คน[119]

มูลนิธิขาเทียมของโรงพยาบาลพระมงกุฎ กรุงเทพฯ และกองทัพบก ร่วมกันจัดหน่วยบริการขาเทียมเคลื่อนที่ไปยังเขตชนบทในระหว่างปี 2547-2548 โครงการแรกจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2547 ที่จังหวัดตาก โดยได้แจกขาเทียมจำนวน 168 ข้าง และได้วางแผนดำเนินโครงการที่จังหวัดขอนแก่นและกำแพงเพชรเป็นลำดับต่อไป[120]

สโมสรโซรอพทีมิสท์ อินเตอร์เนชั่นแนลดุสิต แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์การช่วยเหลือผู้หญิงได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนหญิงตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 เป็นต้นมา ในปี 2546 ได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่เป็นทายาทของผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในจังหวัดสุรินทร์และสระแก้ว รวม 11 คน เป็นเงินจำนวน 33,000 บาท (840 ดอลล่าร์สหรัฐฯ) และในปี 2545 มีนักเรียนหญิงได้รับทุน 10 คน และในปี 2547 จะขยายการให้ทุนไปยังจังหวัดจันทบุรี[121]

ในปี 2545 คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิดได้จัดโครงการระยะเวลา 1 ปีที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ โครงการนี้ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้พิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การเสริมสร้างความเข้มแข็ง การสร้างความตระหนักถึงภัยทุ่นระเบิด และจัดตั้งกองทุนกู้ยืมขนาดย่อม มีผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดประมาณ 50 ครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการ ฐานข้อมูลผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดซึ่งควรนำไปเสริมฐานข้อมูลผู้ประสบภัยของ ศทช. ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพราะขาดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานฯ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 120 คน ซึ่งยังไม่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล[122]

ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจากพม่าที่แสวงหาความช่วยเหลือจากไทย ได้รับการดูแลทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัย และโรงพยาบาลประจำอำเภอที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่า คือในเขตจังหวัดตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง กาญจนบุรี และราชบุรี ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โรงพยาบาลอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดชาวพม่าอย่างน้อย 316 คน กล่าวคือ 63 คนในปี 2546[123] 103 คนในปี 2545 จำนวน 84 คนในปี 2544 และ 66 คนในปี 2543[124] ในปี 2545 คณะกรรมการกาชาดสากลจัดตั้งโครงการ “War Wounded Program” ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน 3 องค์กร คือ Aide Medicale Internationale (AMI), International Rescue Committee (IRC) และ Malteser Germany (MHD) ซึ่งมีสถานพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัย โดยคณะกรรมการกาชาดสากลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลภายในโรงพยาบาลในไทยสำหรับผู้บาดเจ็บจากสงคราม[125]

ชาวพม่าที่ประสบภัยทุ่นระเบิดในไทยต้องได้รับการรับรองให้เข้าพักพิงในค่ายผู้ลี้ภัยที่ได้รับการจัดตั้งก่อน จึงจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากองค์การระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 เป็นต้นมา คลินิกแม่ตาวในไทยซึ่งให้การช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าเป็นพิเศษ ได้เปิดแผนกขาเทียม ให้การช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินในวงจำกัด และส่งต่อผู้บาดเจ็บไปรับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลอำเภอแม่สอด ในปี 2546 คลินิกแม่ตาวได้จัดสรรขาเทียมจำนวน 137 ข้าง (ร้อยละ 82 ของผู้รับ เป็นผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด) และในปี 2545 จัดสรรจำนวน 150 ข้าง (ร้อยละ 74 เป็นผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด)[126] ในเดือนมีนาคม 2545 – มีนาคม 2546 คลินิกแม่ตาวได้จัดการอบรมการผลิตขาเทียมแก่ผู้พิการจากทุ่นระเบิดชาวฉาน 3 คนภายในคลีนิก ปัจจุบัน ทั้งสามคนได้ให้บริการด้านขาเทียมแก่ผู้พิการในรัฐฉาน โครงการขาเทียมของคลินิกแม่ตาวได้รับการสนับสนุนจาก Help Without Frontiers (Italy) ในปี 2546 และ Clear Path International และ Bainbridge Island Rotary Club ในปี 2545[127] และคลินิกยังได้จัดการฝึกอาชีพเย็บผ้าแก่คนพิการด้วย โดยผู้ฝึกสอน 3 คนเป็นผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด ในเดือนสิงหาคม 2546 Clear Path International ได้สนับสนุนการจัดตั้งโรงผลิตขาเทียมที่ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบริหารงานโดยผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด ผู้รับผลประโยชน์จำนวน 43 คนจาก 44 คน เป็นผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดจากรัฐฉาน ประเทศพม่า[128]

องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย ดำเนินโครงการ “สร้างความเข้มแข็งของระบบและกลไกการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย” ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2545 องค์ประกอบสำคัญของโครงการได้แก่การสัมมนาระดับชาติเรื่อง “รูปแบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดแบบครบวงจร (ประสบการณ์จากจังหวัดจันทบุรี)” ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2546 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 90 คนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด รูปแบบการช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดแบบครบวงจรซึ่งเป็นผลจากการสัมมนาครั้งนี้ ได้รับการนำเสนอต่อผู้บริหารนโยบายในกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดสรรให้ ศทช. ผ่านทางโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในปี 2544[129] การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากการสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2544

ไทยยังไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดในระดับชาติ ตามข้อเสนอแนะของการสัมมนาระดับภูมิภาค

ไทยได้ส่งมอบแบบฟอร์ม J ซึ่งเป็นการรายงานโดยสมัครใจเกี่ยวกับกิจกรรมการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดของไทยในปี 2545 และ 2546 แนบประกอบเอกสารรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ของอนุสัญญาฯ

ในเดือนกันยายน 2547 ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ประกาศแผนจัดตั้งศูนย์เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในระดับโลก โดยธนาคารโลกจะเป็นผู้สนับสนุนทุน ศูนย์ดังกล่าว จะให้บริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกาย การช่วยเหลือด้านจิตใจ และการอบรมอาชีพเพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับคืนสู่สังคมได้[130]

นโยบายและการปฏิบัติด้านคนพิการ

ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการไทยปี 2534 ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2537 ซึ่งระบุว่าคนพิการมีสิทธิ “ได้รับการบริการด้านสวัสดิการสังคม การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ”[131] อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนมากไม่ได้รับสิทธินี้เนื่องจากรายละเอียดของกฎหมายเคร่งครัดเกินไป จนทำให้ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดไม่เข้าข่ายได้รับบริการสวัสดิการดังกล่าว กฎหมายยังได้ระบุว่า ผู้พิการจะต้องได้รับ “ความช่วยเหลือและคำแนะนำในเรื่องการฝึกอาชีพที่เหมาะกับสภาพทางกายภาพ” อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอและเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจ เงื่อนไขต่าง ๆ ในด้านการจัดสรรทุนตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้น การบังคับใช้กฎหมายยังขาดความต่อเนื่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ[132]

ในเดือนมกราคม 2547 กรมประชาสัมพันธ์ได้ก่อตั้ง “คณะทำงานกำหนดแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์เพื่อคนพิการ” ขึ้นเพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อการช่วยเหลือคนพิการ[133]

ในปี 2546 กรุงเทพฯ ได้เป็นสถานที่จัดการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้พิการหลายครั้ง รวมถึงการประชุมของผู้เชี่ยวชาญด้านผู้พิการระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน 2546 การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค ในวันที่ 14-17 ตุลาคม 2546 และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้น 2 ครั้งเรื่องสตรีและความพิการ โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (UNESCAP) ให้การสนับสนุนการจัดในระหว่างวันที่ 18-22 สิงหาคม 2546 และ 13 ตุลาคม 2546[134]

ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม 2546 รัฐบาลไทย UNESCAP และศูนย์พัฒนาด้านความพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านคนพิการในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถปรับปรุงการเข้าถึงบริการต่าง ๆ

ในเดือนเมษายน 2546 ศทช. และคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ได้จัดโครงการขี่จักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดลพบุรีเป็นระยะทาง 160 กิโลเมตร โดยมีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเข้าร่วม 35 คน[135]

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด และองค์กรต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานด้านคนพิการ ได้จัดงาน “Bangkok City Handi-Marathon” ครั้งที่ 9 ขึ้นที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ในงานนี้มีคนพิการเข้าร่วมกว่า 350 คนจากทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด 22 คนจากจังหวัดจันทบุรี บุรีรัมย์ สระแก้ว และสุรินทร์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการแข่งขันกรีฑา การประกวด นิทรรศการต่าง ๆ การแสดงดนตรีและขับร้องเพลง[136]

ในเดือนพฤษภาคม 2545 คณะกรรมการระดับชาติที่ดูแลนโยบายด้านสุขภาพคนพิการ ได้มอบหมายให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เป็นหน่วยหลักในการดำเนินการช่วยเหลือและดูแลด้านการแพทย์แก่คนพิการ[137]

ในเดือนพฤศจิกายน 2545 สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหว (สพค.) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่ แสวงหากำไร องค์กรนี้ได้ดำเนินกิจกรรมเป็นตัวแทนของคนพิการ โดยส่งเสริมด้านการศึกษา อาชีพ การฟื้นฟูสมรรถภาพและประสานงานกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับคนพิการทั้งในชนบทและในเมือง สพค. ยังได้ให้ความรู้แก่สาธารณะชนถึงเรื่องราวของคนพิการและประสานงานกับองค์กรคนพิการอื่น ๆ ทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ[138]

ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดชาวไทย 4 คนได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมผู้นำ “Raising the Voices” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างการประชุมระหว่างสมัยประชุมรัฐภาคีฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ที่นครเจนีวา (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) และได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 ในเดือนกันยายน 2546 ที่ กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ทั้ง 4 คนยังได้ช่วยรวบรวมข้อมูลผู้ประสบภัยและผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดในรายงานสถานการณ์ทุ่นระเบิดของไทย (Landmine Monitor) ด้วย


[1] รายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7, แบบฟอร์ม A, 3 พฤษภาคม 2547. ในส่วนของมาตรการเรื่องการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ รายงานได้ระบุถึง: ”ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการควบคุมการปฏิบัติตามอนุสัญญา ปี พ.ศ. 2545” และ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการควบคุมการรับ เก็บ จ่ายเงินหรือสิ่งของช่วยเหลือเพื่อการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับทุ่นระเบิด ปี พ.ศ. 2545” ซึ่งในปีที่แล้ว เป็นเอกสาร “ฉบับร่าง”. ดู Landmine Monitor Report 2003, หน้า 458.
[2] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พันเอกธีระ สายประดิษฐ์, รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ, 7 กันยายน 2547.
[3] การสัมภาษณ์ ศรัณย์ เจริญสุวรรณ, ผู้อำนวยการกองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ, กรมองค์การระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ, 18 กุมภาพันธ์ 2547.
[4] คำกล่าวในพิธีปิดการประชุมรัฐภาคี โดยนายสุรเกียรติ เสถียรไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ, 19 กันยายน 2546.
[5] การสัมภาษณ์ ศรัณย์ เจริญสุวรรณ, กระทรวงการต่างประเทศ, 18 กุมภาพันธ์ 2547.
[6] รายงานความโปร่งใสมาตรา 7 ฉบับก่อนหน้านี้ มีการส่งมอบเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 (สำหรับปีปฏิทิน 2545), 30 เมษายน 2545 (ปีปฏิทิน 2544), 17 เมษายน 2544 (ปีปฏิทิน 2543), 2 พฤษภาคม 2543 (ช่วงเวลา 1 พฤศจิกายน 2542–31 มกราคม 2543), และ 10 พฤศจิกายน 2542 (สำหรับช่วงเวลา 1 พฤษภาคม–30 ตุลาคม 2542)
[7] การสัมภาษณ์ ศรัณย์ เจริญสุวรรณ, กระทรวงการต่างประเทศ, 18 กุมภาพันธ์ 2547.
[8] องค์กรสมาชิกประกอบด้วย ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ, สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, องค์การคนพิการสากลภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย, องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย, องค์การสันติวิธีสากลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเชีย (ประเทศไทย).
[9] คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, ”ครบรอบ 4 ปีอนุสัญญาออตตาวา,” 15 เมษายน 2546; คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, ‘โครงการขี่จักรยานรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด,” 25 เมษายน 2546.
[10] แหล่งข้อมูลหลายแห่งระบุว่าไทยเป็นผู้ผลิตทุ่นระเบิดในอดีต. ดูรายละเอียดใน Landmine Monitor Report 1999, หน้า 367.
[11] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พันเอกสุรพล สุวรรณวงศ์, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ, ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ, กรุงเทพ, 26 มีนาคม 2545.
[12] รายชื่อนี้มีพื้นฐานจากชนิดของระเบิดที่อยู่ในคลังของไทยก่อนการทำลาย
[13] ดู Landmine Monitor Report 2002, หน้า 484.
[14] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พันตำรวจตรีเจริญ ธรรมขัน, พนักงานสอบสวนรับผิดชอบคดี, สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง, จังหวัดสงขลา, 9 กุมภาพันธ์ 2547. ดูเพิ่มเติม Landmine Monitor Report 2003, หน้า 459.
[15] ดู Landmine Monitor Report 2003, หน้า 460, และ Landmine Monitor Report 2002, หน้า 484. ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ถูกยกขึ้นในระหว่างการสัมภาษณ์กลุ่มกบฎเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544.
[16] ดู Landmine Monitor Report 2003, หน้า 460.
[17] การสัมภาษณ์ ข้าราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ; วาสนา นาน่วม, “ว้าใช้ภูเขาปกป้องการผลิตยาเสพติด,” บางกอกโพสต์, 12 พฤษภาคม 2544.
[18] ชนิดของระเบิดที่สะสมในคลังคือ M2, M2A4B2, M4, M14, M16, M16A1, M26, Type 66, Type 69, Type72, PAM2, VAR40, VS50 และ PMN. รายงานความโปร่งใส ตามมาตรา 7, แบบฟอร์ม B, 17 เมษายน 2544.
[19] อัตราแลกเปลี่ยน: 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ = 41.564 บาท ธนาคารสำรองแห่งสหรัฐอเมริกา, “รายการอัตราแลกเงิน (รายปี),” 5 มกราคม 2547.
[20] ยอดงบประมาณดังกล่าว มีที่มาจาก ศทช.จำนวน 646,878 บาท (15,563 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ) และจากกองทัพต่าง ๆ 2,575,079 บาท (61,954 เหรียญสหรัฐฯ). โทรสารจากพลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ผู้อำนวยการ, ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ, กรุงเทพฯ, 24 พฤษภาคม 2547. ดูเพิ่มที่ การตอบข้อซักถามของ Landmine Monitor โดย ศทช., 24 มกราคม 2546.
[21] ศทช. ทำจดหมายขอลดจำนวนทุ่นระเบิดที่ขอสงวนไว้ ถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ศูนย์อำนวยการร่วม, 9 พฤศจิกายน 2543. จากรายงานความโปร่งใสของไทยปี 2542 เดิมระบุว่าจะเก็บทุ่นระเบิดไว้ 15,604 ทุ่น แต่ในจำนวนนั้นได้รวมระเบิดเคลย์โมร์จำนวน 6,117 ทุ่นด้วย ไทยกล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้มาจากการที่ข้อกังวลเรื่องทุ่นระเบิดที่ขอสงวนไว้มีจำนวนสูงเกินไป ถูกยกขึ้นหารือในที่ประชุมคณะกรรมการประจำก่อนหน้านี้. การเข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงโดยไทย, การประชุมคณะกรรมการประจำด้านการทำลายทุ่นระเบิดในคลัง, นครเจนีวา, 7 ธันวาคม 2543.
[22] Landmine Monitor Report 2003, หน้า 460. รายงานความโปร่งใส 30 เมษายน 2546; นำเสนอโดยพลตรีกิตติ สุขสมสถาน, ศทช., การประชุมคณะกรรมการประจำด้านการทำลายทุ่นระเบิดในคลัง, นครเจนีวา, 16 พฤษภาคม 2546.
[23] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ผู้อำนวยการ, และพันเอก ธีระ สายประดิษฐ์, รองผู้อำนวยการ, ศทช., กรุงเทพฯ, 24 กุมภาพันธ์ 2547.
[24] รายงานความโปร่งใส มาตรา 7, แบบฟอร์ม B, 10 พฤศจิกายน 2542.
[25] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ผู้อำนวยการ, และ พันเอก ธีระ สายประดิษฐ์, รองผู้อำนวยการ, ศทช., กรุงเทพฯ, 24 กุมภาพันธ์ 2547.
[26] มีการส่งมอบทุ่นระเบิดอย่างน้อยใน 4 จังหวัด (ขอนแก่น ยโสธร ตรัง และระนอง). ”สรุปผลการรับมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม – 15 ธันวาคม 2546,” มติชนรายวัน, 17 ธันวาคม 2546, หน้า 13; ”พบวัตถุระเบิดหลายชนิดทิ้งไว้หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่น,” ผู้จัดการ (ข่าวจาก www.manager.co.th), 23 พฤศจิกายน 2546; ”จังหวัดตรัง ตรวจยึดวัตถุระเบิด,” กรมประชาสัมพันธ์ (www.prd.go.th), 27 พฤศจิกายน 2546; “ตำรวจยโสธรพบระเบิดเอ็ม-26 ซุกในกระเป๋าเดินทาง,” ผู้จัดการ, 30 พฤศจิกายน 2546; “ผู้ครอบครองอาวุธปืน เครื่องกระสุน และเครื่องระเบิดผิดกฎหมายในจังหวัดระนอง แห่ส่งคืนราชการ เพราะกลัวความผิดหลังใกล้หมดเขต,” กรมประชาสัมพันธ์, 11 ธันวาคม 2546 (ภาษาไทย).
[27] “พบระเบิดและอาวุธสงครามกลางเมืองโคราชอื้อ,” ผู้จัดการ, 19 ธันวาคม 2546; “อุดรฯ พบเครื่องอาวุธปืนและวัตถุระเบิด,” เว็บไซท์ของรัฐบาลไทย, 19 ธันวาคม 2546; “พบระเบิดเอ็ม 26 ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ 1 ลูก,” ผู้จัดการ, 2 กุมภาพันธ์ 2547.
[28] “การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด: ราชอาณาจักรไทย,” รับรองโดย United Nations Certification Committee, แล้วเสร็จ เดือนพฤษภาคม 2544, เผยแพร่ครั้งแรกในกลางปี 2545, และในเดือนตุลาคม 2545 ในประเทศไทย. เนื้อหาโดยสรุปของรายงานฉบับนี้ปรากฏในรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ของไทย, แบบฟอร์ม C, 30 เมษายน 2546, ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Landmine Monitor Report 2002, หน้า 486-487.
[29] กองทัพบกของไทยได้ทำการสำรวจในปี 2541 พบว่าตามบริเวณชายแดนทุกด้าน มีพื้นที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดรวม 796 ตารางกิโลเมตร. ดู Landmine Monitor Report 1999, หน้า 378.
[30] ดู Landmine Monitor Report 2003, หน้า 461.
[31] คัดมาจากแหล่งเดียวกัน. การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด จัดทำโดย Norwegian People’s Aid โดยมีสัญญากับ Survey Action Center และ ศทช.
[32] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 26 เมษายน 2547; ข้อมูลจาก สุทธิเกียรติ โสภณิก, ผู้อำนวยการ, มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, การประชุม TCBL, 27 กุมภาพันธ์ 2547.
[33] การนำเสนอโดย พันเอกคงภัณฑ์ เมนะคงคา, ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ, ศทช., การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการกวาดล้างทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม, คุนหมิง, ประเทศจีน, 26 เมษายน 2547.
[34] ถ้อยแถลงโดย พลตรีกิตติ สุขสมสถาน, ศทช., การประชุมคณะกรรมการประจำเรื่องการกวาดล้างทุ่นระเบิด การให้ความรู้การเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิด และเทคโนโลยีเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิด, นครเจนีวา, 14 พฤษภาคม 2546.
[35] การสัมภาษณ์ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, รองนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพฯ, 24 กุมภาพันธ์ 2547.
[36] สารจากดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, ประธานการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5, ในโอกาสการประชุมนานาชาติเรื่อง “National Structures Against Mines,” กรุงปารีส, 12-13 มีนาคม 2547.
[37] ถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการประจำเรื่องการกวาดล้างทุ่นระเบิด การให้ความรู้การเสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิด และเทคโนโลยีเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิด, นครเจนีวา, 21 มิถุนายน 2547.
[38] รายงานความก้าวหน้าโครงการร่วม ศทช./UNDP โครงการหมายเลข TH/99/008, 20 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2544.
[39] การนำเสนอโดย พันเอกคงภัณฑ์ เมนะคงคา, ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ, ศทช., การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการกวาดล้างทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม, คุนหมิง, ประเทศจีน, 26 เมษายน 2547. จากการที่หลายประเทศได้ใช้ IMSMA ชุด 3.0 แล้ว ศทช. จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแผน เพื่อให้ฐานข้อมูลของ ศทช. สามารถเทียบเคียงกับฐานข้อมูลปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านอื่น ๆ ได้
[40] การนำเสนอโดย พันเอกคงภัณฑ์ เมนะคงคา, ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ, ศทช., การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการกวาดล้างทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเพื่อมนุษยธรรม, คุนหมิง, ประเทศจีน, 26 เมษายน 2547.
[41] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 24 กุมภาพันธ์ 2547.
[42] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ จาก วัจน์นัย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, กรมองค์การระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, 20 เมษายน 2547.
[43] ถ้อยแถลงโดย พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ผู้อำนวยการ, ศทช., การบรรยายสรุปสำหรับ Joint United States Military Advisory Group (จัสแมกไทย), กรุงเทพฯ, 19 กุมภาพันธ์ 2547; การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 24 กุมภาพันธ์ 2547.
[44] ดู Landmine Monitor Report 2003, หน้า 462. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 195/2545, เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม, 28 มิถุนายน 2545.
[45] การสัมภาษณ์ ศรัณย์ เจริญสุวรรณ, กระทรวงการต่างประเทศ, 18 กุมภาพันธ์ 2547; การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 24 กุมภาพันธ์ 2547; การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พันเอก ธีระ สายประดิษฐ์, ศทช., 21 กุมภาพันธ์ 2547.
[46] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 24 กุมภาพันธ์ 2547.
[47] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 26 เมษายน 2547.
[48] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 24 กุมภาพันธ์ 2547 และ 26 เมษายน 2547.
[49] องค์กรทั้งสองให้เงินทุน เครื่องมืออุปกรณ์ และสนับสนุนทีมพลเรือนกู้ระเบิด ซึ่ง ศทช. เป็นผู้ให้การฝึกอบรม. ทั้งสององค์กรได้กวาดล้างพื้นที่ทุ่นระเบิดบริเวณปราสาทสด็กก๊อกธม JAHDS มีโครงการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพิ่มเติมในปี 2547 แต่มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่มีโครงการต่อเนื่อง
[50] ศทช., “Summary of Humanitarian Mine Action in Thailand Of Year 2002 - 2003,” ที่ www.tmac.go.th/mineclearance/clearance200-2003.htm, เข้าถึงเมื่อ 12 ตุลาคม 2547.
[51] จดหมายเชิญ, กิตติกรรมประกาศจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และคำกล่าวในพิธีเปิดโดยพลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ผู้อำนวยการ, ศทช., วุฒิสมาชิกไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, ประธานมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น Atsushi Tokinoya, สระแก้ว, 23 มกราคม 2547.
[52] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดย Wataru Sugaya, JAHDS, 24 กุมภาพันธ์ 2547; สุทธิเกียรติ โสภณิก, มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, 23 กุมภาพันธ์ 2547.
[53] จดหมายเชิญ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 และรายงานของ นปท.1/ศทช. แจกจ่ายเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 ในระหว่างการตรวจสอบและพิสูจน์การกวาดล้างทุ่นระเบิด.
[54] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 26 เมษายน 2547.
[55] พันตรีสุรินทร์ ปรียานุภาพ, นปท.1, การนำเสนอของ นปท.1, ในพิธีส่งมอบเครื่องจักรกล PROMAC (BDM-48) และวัตถุระเบิด, บ้านหนองหญ้าแก้ว, จ.สระแก้ว, 23 มกราคม 2545; “คลังแสงกองทัพบกระเบิด – ทั้งเมืองหวั่นระเบิดปะทุอีก,” เดอะเนชั่น, 26 ตุลาคม 2544; “เหตุระเบิด - ระเบิดเก่า จุดระเบิดเอง กองทัพสรุป,” บางกอกโพสต์, 29 ตุลาคม 2544; ศทช., “รายละเอียดเรื่องความพยายามของ ศทช. ในการช่วยเหลือที่หนองสาหร่าย อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา,” จดหมายข่าว ศทช., พฤศจิกายน 2544; “การสะสมในคลังและการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในไทย,” ถ้อยแถลงโดยพลตรีกิตติ สุขสมสถาน, นครเจนีวา, 30 พฤษภาคม 2545.
[56] จดหมายอิเล็กทรอนิกส์จาก David McCracken, ที่ปรึกษา ศทช., 12 มีนาคม 2545.
[57] การตอบคำถาม จาก พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 12 มีนาคม 2547.
[58] คัดมาจากแหล่งเดียวกัน
[59] รายงานความโปร่งใส, ฟอร์ม I, 17 เมษายน 2544.
[60] ข้อมูลตอบคำถามของ Landmine Monitor โดย ศทช. วันที่ 24 มกราคม 2546. ศทช. ได้รายงานก่อนหน้านี้ว่าเข้าถึงชาวบ้าน 94,246 คนในปี 2544 และ 45,273 คนในปี 2545.
[61] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดย ศทช., ได้รับเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547.
[62] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดย สิริกาญจน์ คหัฏฐา, เจ้าหน้าที่ประสานงานภาครัฐ, ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, จ.ปทุมธานี, 17 กุมภาพันธ์ 2547.
[63] จดหมายอิเล็กทรอนิกส์, อติวรรณ์ คุณาภินันท์, ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, 4 กุมภาพันธ์ 2547.
[64] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดย ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, 17 กุมภาพันธ์ 2547.
[65] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, ”ร่างรายงานประจำปี 2546,” พฤษภาคม 2547.
[66] ข้อมูลตอบแบบสอบถาม โดย ศุษิรา ชนเห็นชอบ, ผู้จัดการงานพัฒนาด้านคนพิการ, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 8 กุมภาพันธ์ 2547.
[67] นำเสนอโดย วนัชพร แพสุขชื่น, ที่ปรึกษาด้านเทคนิคการให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 8 กุมภาพันธ์ 2547.
[68] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, “ร่างรายงานประจำปี 2546.”
[69] ดู Landmine Monitor Report 2002, หน้า 491.
[70] ข้อมูลตอบคำถาม พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 24 กุมภาพันธ์ 2547.
[71] การสัมภาษณ์ ศรัณย์ เจริญสุวรรณ, กระทรวงการต่างประเทศ, 18 กุมภาพันธ์ 2547.
[72] การสัมภาษณ์ พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช. 24 กุมภาพันธ์ 2547. กองบัญชาการทหารสูงสุดจัดสรรงบประมาณในขั้นแรกจำนวน 5.5 ล้านบาทและได้จัดสรรเพิ่มให้อีก 1.4 ล้านบาท รองนายกรัฐมนตรีได้จัดสรรให้อีก 500,000 บาท. ศทช., รายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมระดับชาติครั้งที่ 1, ณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ, กรุงเทพฯ, 18 ธันวาคม 2545.
[73] จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จาก พันตรี Scott Elder, JUSMAG, กรุงเทพฯ, 9 กุมภาพันธ์ 2547.
[74] กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา, “To Walk the Earth in Safety,” กันยายน 2545, หน้า 30.
[75] โทรสารจาก ศทช., 27 มิถุนายน 2544.
[76] ฐานข้อมูล Mine Action Investments ที่ www.mineactioninvestment.org, เข้าถึงเมื่อ 12 ตุลาคม 2547.
[77] JAHDS ใช้ทุนดังกล่าวในโครงการกวาดล้างทุ่นระเบิดบริเวณปราสาทสด็กก๊อกธม ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับ ศทช. และทีมพลเรือนของมูลนิธิพลเอกชาติชายชุณหะวัณ โครงการนี้มีงบประมาณ 1.39 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ มูลนิธิฯ จัดหาผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิด 50 คนและค่าใช้จ่ายปฏิบัติการประมาณ 800,000 บาท (19,247 ดอลล่าร์สหรัฐ) ในปี 2546. การตอบแบบสอบถาม Landmine Monitor โดยสุทธิเกียรติ โสภณิก, ผู้อำนวยการ, มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, 23 กุมภาพันธ์ 2547; สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ สุทธิเกียรติ โสภณิก, มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, 25 กุมภาพันธ์ 2547.
[78] ฐานข้อมูลการลงทุนด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิด Mine Action Investments.
[79] รายงานของคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ศทช./UNDP โดย พลตรีกิตติ สุขสมสถาน, ศทช., 15 มกราคม 2546.
[80] จดหมายจาก Merete Fjeld Brattested, รองอธิบดี, กระทรวงการต่างประเทศ, นอร์เวย์, 21 มีนาคม 2546; การสัมภาษณ์ May-Elin Stener, ที่ปรึกษา, กรมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, กระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์, 25 พฤษภาคม 2547. อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ= 7.0819 โครนนอร์เวย์, ธนาคารสำรองแห่งสหรัฐอเมริกา, รายการอัตราแลกเปลี่ยน (รายปี),” 5 มกราคม 2547.
[81] ข้อมูลตอบคำถามจาก สิริกาญจน์ คหัฏฐา, ผู้ประสานงานภาครัฐและเอกชน, ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, 17 กุมภาพันธ์ 2547; การสอบถามทางโทรศัพท์เพื่อความกระจ่าง,1 มีนาคม 2547.
[82] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ สิริกาญจน์ คหัฏฐา, ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, 14 เมษายน 2547.
[83] ข้อมูลตอบคำถาม สิริกาญจน์ คหัฏฐา, ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, 17 กุมภาพันธ์ 2547; การสอบถามทางโทรศัพท์เพื่อความกระจ่าง, 1 มีนาคม 2547.
[84] อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร = 1.1315 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
[85] ข้อมูลตอบคำถามโดย ศุษิรา ชนเห็นชอบ, ผู้จัดการงานพัฒนาด้านคนพิการ, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 8 กุมภาพันธ์ 2547.
[86] โทรสารจาก จิตรา เจริญทรัพย์, เจ้าหน้าที่ธุรการ, มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, เชียงใหม่, 9 กุมภาพันธ์ 2547; การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์, 13 กุมภาพันธ์ 2547.
[87] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จรัสกร หมั่นคติธรรม, สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย, กรุงเทพฯ, 12 กุมภาพันธ์ 2547.
[88] ข้อมูลตอบคำถามจากพลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 24 กุมภาพันธ์ 2547; และดู ศทช, “สรุปการปฏิบัติการทุ่นระเบิดในประเทศไทย.”
[89] ศทช. “สรุปการปฏิบัติการทุ่นระเบิดในประเทศไทย.”
[90] ดูข้อมูลเพื่อเติมที่ Landmine Monitor Report 2003, หน้า 466.
[91] ศทช. “สรุปการปฏิบัติการทุ่นระเบิดในประเทศไทย.”
[92] “ทหารเหยียบกับระเบิดที่ชายแดนไทย-ลาว,” มติชนรายวัน, 29 มกราคม 2547, หน้า 5.
[93] ข้อมูลจาก สุปัน โคตะ และ สมเกียรติ เชื้อสิงห์, ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดในจังหวัดสระแก้ว, 16 มีนาคม 2547.
[94] “Violence in the south” (“ความรุนแรงในภาคใต้”), บางกอกโพสต์, 25 มิถุนายน 2547.
[95] ในปี 2543 ศทช. ระบุว่ามีผู้ประสบภัยระหว่างปี 2512 – 2542 จำนวนรวม 1,849 คน ในจำนวนนี้เสียชืวิต 56 คน. ศทช., “แผนแม่บทการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย ในห้วงระยะเวลา 5 ปี, ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2543-พ.ศ. 2547),” กรุงเทพฯ, ปี 2543, หน้า 21-22. การที่สถิติมีความแตกต่างกันสืบเนื่องจากตัวแปรหลายประการ ซึ่งรวมถึงการรายงานที่ไม่สมบูรณ์ โดยที่มีผู้ประสบภัยหลายรายไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและไม่ได้ลงทะเบียน; การจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงระดับหมู่บ้านเช่นที่การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดได้ทำไว้; และการขาดแคลนทรัพยากรด้านต่าง ๆ.
[96] “การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย,” หน้า 18. ผู้ประสบภัยในช่วงไม่นานมานี้ หมายถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 ปีก่อนวันสำรวจ ทีมสำรวจเริ่มสำรวจเมื่อเดือนกันยายน 2543 และสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2544 ดังนั้นช่วงเวลาของเหตุการณ์อยู่ระหว่างเดือนกันยายน 2541 – เมษายน 2544 จำนวนผู้ประสบภัย 3,122 คนได้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บก่อนหน้านั้นมากกว่า 24 เดือน
[97] คัดมาจาแหล่งเดียวกัน; หน้า 23-24. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Landmine Monitor Report 2001, หน้า 489.
[98] “Walking Wounded,” ภาพถ่ายพร้อมคำอธิบาย, เดอะเนชั่น, 18 กุมภาพันธ์ 2546, หน้า 4A.
[99] “กวาดล้างสิ่งอันตรายใต้พื้นดิน-ทุ่นระเบิด!,” เดลินิวส์, 6 กุมภาพันธ์ 2544, หน้า 1, 3.
[100] สมศักดิ์ สุกใส, “Motala now fully recovered,” บางกอกโพสต์, 22 กรกฎาคม 2547.
[101] ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล, Landmine Victim Assistance: World Report 2002, หน้า 244-247.
[102] “การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย,” หน้า 24.
[103] การร่วมอภิปรายโดยประเทศไทย, การประชุมประธานร่วมเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดและการส่งเสริมสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม, นครเจนีวา, 23 มิถุนายน 2547.
[104] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พันเอกธีระ สายประดิษฐ์, ศทช. 21 เมษายน 2547; การตอบแบบสอบถามของ ศทช., ได้รับเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2547. ศทช. ได้รับบริจาคจากผู้บริจาคส่วนบุคคลและการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหม.
[105] ศทช., รายงานกิจกรรมประจำเดือน มกราคม – ธันวาคม 2545; และสถิติจากการรวบรวมข้อมูลหลายแหล่งโดย ศทช. สำหรับรายงาน Landmine Monitor Report 2002.
[106]การสัมภาษณ์ ศรัณย์ เจริญสุวรรณ, กระทรวงการต่างประเทศ, 18 กุมภาพันธ์ 2547; การสัมภาษณ์พลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, ศทช., 24 กุมภาพันธ์ 2547; โทรสาร จากพลตรีธำรงศักดิ์ ดีมงคล, 24 พฤษภาคม 2547.
[107] ข้อมูลตอบแบบสอบถามจากโรงพยาบาลประจำอำเภอ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ และองค์กรเอกชนในประเทศไทย, เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2547; องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย,”รายงานประจำปี 2546,” กรุงเทพฯ, มิถุนายน 2547.
[108] ข้อมูลตอบแบบสอบถาม พัชรินทร์ กสิบุตร, ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, นนทบุรี, 11 กุมภาพันธ์ 2547; ข้อมูลตอบแบบสอบถาม, ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, 28 มกราคม 2546.
[109] โทรสารจากมูลนิธิขาเทียม, เชียงใหม่, 1 มีนาคม 2547.
[110] ข้อมูลตอบแบบสอบถาม โดย วิกานดา พิทักษ์, เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์, มูลนิธิขาเทียม, เชียงใหม่, 24 กุมภาพันธ์ 2546; ข้อมูลตอบคำถาม รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ, ผู้อำนวยการ, มูลนิธิขาเทียม, เชียงใหม่, 7 มกราคม 2545.
[111]สฤษฎ์เดช มฤคทัต และ วรนุช มณีรังสี, “Ready for a leap – Innovative, inexpensive, locally produced artificial legs may be set to step into the global market place” (พร้อมสำหรับก้าวกระโดด – ขาเทียมรุ่นใหม่ ราคาถูก ผลิตในไทยอาจก้าวสู่ตลาดโลก), บางกอกโพสต์ เอาท์ลุค, 20 มีนาคม 2545.
[112] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ, เลขาธิการ, มูลนิธิขาเทียม, เชียงใหม่, 17 มีนาคม 2546.
[113] โทรสาร มูลนิธิขาเทียม, 1 มีนาคม 2547.
[114] การสัมภาษณ์ ชูศักดิ์ แซ่ลี้, ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดและช่างเทคนิคที่ผ่านการอบรมโดยองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล, อำเภอโป่งน้ำร้อน, จันทบุรี, 27 กุมภาพันธ์ 2546; โทรสารจากองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานจันทบุรี, 8 มกราคม 2546.
[115] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย, รายงานประจำปี 2546,” มิถุนายน 2547, หน้า 12.
[116] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ จากองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, 6 พฤษภาคม 2546; ข้อมูลตอบแบบสอบถาม โดย สุพจน์ บุญเต็ม, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานจันทบุรี, 18 มีนาคม 2545.
[117] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย, รายงานประจำปี 2546,” มิถุนายน 2547, หน้า 12. รายงานนี้ระบุว่า กิจกรรมบางอย่างจัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชน.
[118] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จรัสกร หมั่นคติธรรม, สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย, กรุงเทพฯ, 14 กุมภาพันธ์ และ 13 พฤษภาคม 2547; ข้อมูลตอบแบบสอบถาม, สุปราณี ดีระดา, เจ้าหน้าที่ภาคสนาม, สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย, อรัญประเทศ, สระแก้ว, 28 มกราคม 2547; การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จรัสกร หมั่นคติธรรม, สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย, กรุงเทพฯ, 18 มีนาคม 2546; ข้อมูลตอบแบบสอบถาม สุปราณี ดีระดา, เจ้าหน้าที่ภาคสนาม, สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย, อรัญประเทศ, 28 ธันวาคม 2544.
[119] ข้อมูลตอบแบบสอบถาม พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ, นายกสมาคม, สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, นนทบุรี, 7 มกราคม 2547.

[120] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ นายแพทย์ฟูเศรษฐ จงเฟื่องปริญญา, ฝ่ายออร์โธพีดิกส์, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, กรุงเทพฯ, 18 มิถุนายน 2547; รายงานโดย พันเอกศิริชัย ทรัพย์ศิริ, นายกสมาคม, สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, การประชุมคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ณ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, ปทุมธานี, 19 ธันวาคม 2546.

[121] รายงานโดย ศิริเพ็ญ ลิ้มศิริกุล, ผู้อำนวยการ, องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย ประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 20 พฤษภาคม 2547.
[122] คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, “Summary End of Project Report to Canada Fund” (เอกสารสรุปรายงานผลการดำเนินโครงการต่อกองทุนแคนาดา) 23 ธันวาคม 2545.
[123] โทรสารจากศุษิรา ชนเห็นชอบ, ผู้จัดการงานด้านความพิการ, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นเแนล-ประเทศไทย, 1 มีนาคม 2547.
[124] ข้อมูลจากโรงพยาบาลแม่สอดที่ส่งให้องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นเแนล-ประเทศไทย. สถิติและข้อมูลดังกล่าว ไม่ตรงกับที่ได้ให้กับ Landmine Monitor ในปีก่อนหน้านี้
[125] จดหมายจากคณะผู้แทนระดับภูมิภาค คณะกรรมการกาชาดสากล, 27 กุมภาพันธ์ และ 19 เมษายน 2547; การสัมภาษณ์ Marcus Geisser, ผู้แทนคณะกรรมการกาชาดสากล, เชียงใหม่, 31 ธันวาคม 2545.
[126] แผนกขาเทียมและการฟื้นฟูของสถานพยาบาลแม่ตาว,”รายงานกิจกรรมประจำปี 2546,” การสัมภาษณ์ Dr. Cynthia Maung, ผู้อำนวยการสถานพยาบาลแม่ตาว, แม่สอด, 21 มีนาคม 2546.
[127] การประชุมกับ Dr. Cynthia Maung, สถานพยาบาลแม่ตาว, 20 พฤษภาคม 2547 และ 21 มีนาคม 2546.
[128] การสัมภาษณ์ ผู้ประสานงานโครงการขาเทียม, ตำบลเปียงหลวง, อำเภอเวียงแหง, เชียงใหม่, 22 มกราคม 2547.
[129] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นเแนล-ประเทศไทย, สรุปรายงานโครงการ “สร้างความเข้มแข็งของระบบและกลไกการช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดในไทย,” 27 กุมภาพันธ์ 2546.
[130] “ไทยวางแผนเป็นศูนย์กลางของโลกในการฟื้นฟูสมรรถภาพเหยื่อทุ่นระเบิด,” บริการข่าวไทย, 22 กันยายน 2547.
[131] พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการไทย, 2534, มาตรา 15 ตอน 1 และ 3, มาตรา 17 ตอน 1 และ 2, มาตรา 18.
[132] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นเแนล-ประเทศไทย, ”รายงานโลก 2545,” ลียง, ธันวาคม 2545, หน้า 246.
[133] มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย, จดหมายข่าว, มกราคม 2547, หน้า 9.
[134] ดูรายละเอียดที่ www.worldenable.net/bangkok2003; และ www.worldenable.net/beijing2003, เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2547.
[135] รายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7, แบบฟอร์ม J, เมษายน 2547.
[136] มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย, จดหมายข่าว, ธันวาคม 2546, หน้า 6; ICBL Landmine Update #12 (ข้อมูลความเคลื่อนไหวงานรณรงค์ ฉบับที่ 12 ขององค์กรสากลรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด), กุมภาพันธ์ 2547, หน้า 6.
[137] สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, จดหมายข่าว, กรกฎาคม-สิงหาคม 2545, หน้า 12.
[138] จดหมายจากพันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ, นายกสมาคม, สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหว, 21 มกราคม 2546.